การปกครองและกฎหมาย
บ้านเมืองในลุ่มน้ำสินธุมีร่องรอยของการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทั้งนี้เห็นได้จากรูปแบบการสร้างเมืองฮารัปปาและเมืองโมเฮนโจ ดาโร ที่มีการวางผังเมืองในลักษณะเดียวกัน มีการตัดถนนเป็นระเบียบ การสร้างบ้านใช้อิฐขนาดเดียวกัน ตัวเมืองมักสร้างอยู่ในป้อมซึ่งต้องมีผู้นำที่มีอำนาจแบบรวมศูนย์ ผู้นำมีสถานภาพเป็นทั้งกษัตริย์และเป็นนักบวชจึงมีอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม
ต่อมาเมื่อพวกอารยันเข้ามาปกครองดินแดนลุ่มน้ำสินธุแทนพวกดราวิเดียน จึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบกระจายอำนาจ โดยแต่ละเผ่ามีหัวหน้าที่เรียกว่า “ราชา” ปกครองกันเอง มีหน่วยการปกครองลดหลั่นลงไปตามลำดับ จากครอบครัวที่มีบิดาเป็นหัวหน้าครอบครัว หลายครอบครัวรวมเป็นระดับหมู่บ้าน และหลายหมู่บ้านมีราชาเป็นหัวหน้า ต่อมาแต่ละเผ่ามีการพุ่งรบกันเอง ทำให้ราชาได้ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในการปกครองด้วยวิธีต่างๆ เช่น พิธีราชาภิเษก ความเชื่อในเรื่องอวตารพิธีอัศวเมธ เป็นพิธีขยายอำนาจโดยส่งม้าวิ่งไปยังดินแดนต่างๆ จากนั้นจึงส่งกองทัพติดตามไปรบเพื่อยึดครองดินแดนที่ม้าวิ่งผ่านไป การตั้งชื่อเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ คำสอนในคัมภีร์ศาสนาและตำราสนับสนุนความยิ่งใหญ่ของราชา และต่อมาก็มีคติความเชื่อว่า ราชาทรงเป็นสมมติเทพ คือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพอวตารลงมาเพื่อปกครองมวลมนุษย์
ในด้านการปกครองมีการเขียนตำราเกี่ยวกับการเมืองการปกครองชื่ออรรถศาสตร์ ระบุหน้าที่ของกษัตริย์ ในด้านกฎหมาย มีพระธรรมศาสตร์และต่อมามีการเขียนพระธรรมนูญธรรมศาสตร์ขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น